วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การกินแบบไทย





              ประโยชน์ของการกินแบบไทยๆ การกินน้อย กินพอประมาณ การรู้จักคำว่า กินน้อย กินพอประมาณ จะช่วยให้ร่างกายสามารถขจัดสิ่งที่ล้นเกินความต้องการได้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ หวานพอดี เค็มพอดี มันพอดี ร่างกายรับรู้ได้จัดการได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ารับหวาน มัน เค็ม เข้าสู่ร่างกายไม่มีหยุด ไม่มีพอ อย่างที่เด็กหรือวัยรุ่นหลายรายกำลังดำเนินชีวิตอย่างนี้ก็เป็นการทำร้ายระบบอวัยวะขับถ่ายของร่างกายของเราให้เสื่อมทรุดไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง
               โดยพื้นฐานแล้วขนมไทยเป็นของกินตามวาระสำคัญๆ มากกว่าจะเป็นของว่างที่ให้กินหลังอาหารมื้อหลักเสียด้วยซ้ำ (การกินเป็นของว่างเป็นวัฒนธรรมตะวันตก) และวาระที่ว่าก็มักจะเป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับงานบุญแทบทั้งสิ้น ขนมไทยได้เข้ามามีบทบาทในงานบุญตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยทำขนมพิเศษๆ เฉพาะงานบุญขึ้น นั่นหมายถึงในปีหนึ่งๆ จะมีการทำขนมชนิดนั้นเพียง 1 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากทำยากและต้องใช้แรงใจแรงกายของคนหลายๆ คนร่วมกัน ชาวบ้านจะทำขนมนั้นๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าเหลือจากงานบุญก็จะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านและเก็บไว้กินเอง
               จะเห็นว่า การกินขนมของคนไทยสมัยก่อนนั้นเป็นของคู่งานบุญ ไม่ได้กินกันพร่ำเพรื่อเหมือนการกินขนมของคนสมัยนี้ ซ้ำขนมไทยก็ไม่ได้อยู่ในสถานะของการเป็นอาหารว่างที่จะมานั่งละเลียดกินหลังอาหารมื้อหลักเหมือนอย่างที่เรากำลังทำอยู่ อาหารว่างเป็นการกินตามวัฒนธรรมของตะวันตกที่เพิ่งเข้ามาในภายหลัง
              การสอนให้เด็กมีวินัยในการกินขนมนั้น ควรแนะนำให้เขาได้รู้จักขนมไทยให้มากขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกที่จะเข้าไปทดแทนขนมถุงในเวลาต่อไป สอนให้รู้จักความหมายและที่มาที่ไปของขนมไทย ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองควรเริ่มทำขนมไทยให้เด็กได้กินเอง โดยเริ่มจากขนมที่ทำได้ง่ายๆ อย่างเช่น ขนมประเภทผลไม้เชื่อมใส่น้ำเชื่อม หรือน้ำกะทิใส่น้ำแข็ง ซึ่งขนมประเภทนี้สามารถพัฒนาหาผลไม้ที่มีประโยชน์มาใส่ได้สารพัด ที่สำคัญอย่าลืมเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมในการทำขนมด้วย เอาขั้นตอนง่ายๆ อย่างการช่วยปอกกล้วย ปอกผลไม้ ก็ได้ โดยตกลงกันในครอบครัวว่าจะทำขนมกินกันเองอาทิตย์ละครั้งพร้อมๆ กับลดค่าขนมถุงของเด็กลงเป็นลำดับ ลูกหลานของเราจะห่างไกลภัยจากขนมถุงได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวจะใส่ใจให้ความสำคัญสร้างสรรค์กิจกรรมดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
เคล็ดลับการกินขนมไทยสำหรับคนกลัวอ้วน ห่วงหวาน
                ด้วยวัตถุดิบที่หลากหลายทำให้ขนมไทยแตกหน่อออกลายมากมายหลายชนิด ในขณะที่รสชาติหอมหวานมันก็พัฒนาจนกลายเป็นศิลปะชั้นเลิศทางด้านอาหาร ทำให้ขนมไทยมีความพอดีอยู่ในตัว คือ ไม่หวาน ไม่มันจนเกินพอดี แต่อย่างไรก็ดีขนมไทยก็ยังเป็นของหวานที่คนบางคนอาจจะต้องระมัดระวังอยู่บ้าง โดยเฉพาะสำหรับคนที่กลัวอ้วนห่วงหวานแต่ไม่อยากจะพลาดขนมไทย
ข้อแนะนำการกินขนมไทยแบบระวังหวาน
               ให้เลือกกินขนมไทยประเภทที่มีส่วนประกอบของน้ำหรือเป็นขนมน้ำดีกว่าขนมประเภทเชื่อม หรือขนมแห้ง เพราะการที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบในขนมมากๆ จะทำให้มีสัดส่วนของแป้งและน้ำตาลน้อย ขนมที่แนะนำ อาทิ ตะโก้แห้ว กล้วยบวดชี แกงบวดเผือก เผือกน้ำกะทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ผลไม้ลอยแก้ว วุ้นน้ำเชื่อม ซึ่งขนมน้ำประเภทที่ไม่ใช่แกงบวด ถ้ารู้สึกว่าหวานมากเราสามารถเติมน้ำแข็งใส่เพิ่มเข้าไปได้ ขนมประเภทนี้จะให้พลังงานน้อยกว่าขนมประเภทเชื่อมหรือขนมแห้งอย่างพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หรือเม็ดขนุนค่อนข้างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น